เกี่ยวกับเรา
เว็บไซต์คุยกับลูกเรื่องเพศ เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) และศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสังคมที่เป็นสุขและปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน โดยการเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะเบื้องต้นสำหรับผู้ปกครองในการสื่อสารความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนทัศนคติเรื่องเพศที่เหมาะสมให้แก่บุตรหลาน เพื่อที่พวกเขาจะสามารถรับมือความเสี่ยงแห่งยุคสมัยได้อย่างแท้จริง
เพราะสังคมรอบข้างพูดเรื่องเพศอยู่ตลอดเวลา ทั้งในหนัง-ละคร โฆษณา เอ็มวี ข่าว ฯลฯ แล้วเด็กๆ ก็ใช้อินเทอร์เน็ตได้เอง แต่เด็กมักจะแยกแยะไม่ได้ ว่าเรื่องไหนจริง ไม่จริง ควรทำตาม หรือไม่ควรลอกเลียนแบบ
เด็กวัยก่อนเข้าเรียน (3-5 ปี) – เด็กวัยนี้สนใจเรื่องความแตกต่างของสรีระร่างกาย ผู้ชายกับผู้หญิง แต่เด็กยังแยกแยะบทบาทระหว่างเพศไม่ได้ เพราะฉะนั้น เด็กไม่ได้ต้องการคำตอบที่ซับซ้อน
เริ่มต้นที่การเตรียมพร้อมของตัวคุณเอง ...เตรียมอะไรบ้าง?
ยิ่งเร็วยิ่งดี อย่าให้สื่อเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสมเป็นช่องทางเดียวในการรับรู้ของลูกหลาน เด็กยุคนี้ เผชิญความเสี่ยงจากสื่อและสังคมรอบข้างที่กระตุ้นความสนใจใคร่รู้เรื่องเพศในช่วงวัยที่ลดลงเรื่อยๆ เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ปกครองจะติดตามปกป้องลูกหลานทุกฝีก้าว
ทำไมต้องคุยกับลูกเรื่องเพศ?
คำตอบ:
เพราะสังคมรอบข้างพูดเรื่องเพศอยู่ตลอดเวลา ทั้งในหนัง-ละคร โฆษณา เอ็มวี ข่าว ฯลฯ แล้วเด็กๆ ก็ใช้อินเทอร์เน็ตได้เอง แต่เด็กแยกแยะไม่ได้ ว่าเรื่องไหนจริง ไม่จริง ควรทำตาม หรือไม่ควรลอกเลียนแบบ
ถ้าพ่อแม่ไม่คุย ลูกก็จะเข้าใจเอาเอง ซึ่งอาจจะเข้าใจผิด หรือไปคุยกับเพื่อนๆ ที่รู้ไม่จริงพอๆ กัน แล้วความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนก็อาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม สร้างให้เกิดปัญหาตามมา
จะคุยกับลูก เริ่มต้นอย่างไร
เริ่มต้นที่การเตรียมพร้อมของตัวคุณเอง
-
เตรียมความคิด
เรื่องเพศไม่ใช่แค่เพศสัมพันธ์ แต่ยังมีแง่มุมสุขภาพ และทักษะความสัมพันธ์ ถ้าเด็กๆ มีความรู้ พวกเขาจะได้ดูแลตัวเองให้ปลอดภัย รวมทั้งรู้จักเคารพสิทธิคนอื่น
-
เตรียมใจ
ทำใจให้สบาย ไม่ต้องกังวลถ้าลูกถาม พ่อแม่ไม่ต้องรู้ทุกเรื่องก็ได้ ถ้าไม่รู้ก็บอกไปตามตรง และชวนลูกให้ช่วยกันหาคำตอบ ถือเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัว
-
เรียนรู้โลกของลูก
เด็กแต่ละคนรับรู้ เข้าใจ และมีนิสัยใจคอต่างกัน คำตอบเดียวกันใช้ไม่ได้กับทุกคน พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตว่าลูกสนใจอะไร คบเพื่อนแบบไหน ชวนลูกคุย และฟังลูกให้มากที่สุด
-
ไม่ยัดเยียดข้อมูล
อย่าใส่ข้อมูลให้ลูกมากเกินไป เด็กจะเบื่อ เลือกเวลาและโอกาสที่เหมาะสม สังเกตความสนใจของลูกตลอดเวลาที่คุยกัน
-
พร้อมรับฟัง
ฟังลูกพูดอย่างตั้งใจ อย่ารีบตัดสินว่าสิ่งที่ลูกคิด หรือรู้มา ผิดหรือถูก ฟังจนจบ ด้วยท่าทีปกติ
-
คำถามปลายเปิด
ชวนคุยอย่างเป็นธรรมชาติ ปล่อยให้ลูกเล่าประสบการณ์ และแสดงความเห็นเต็มที่ ตั้งคำถามเพื่อชวนคิดในหลายแง่มุม เด็กจะเข้าใจและยอมรับได้ดีกว่าการสั่งสอน
-
อย่าขู่
พ่อแม่มักคุ้นเคยกับการห้ามปราม หรือยกตัวอย่างที่ไม่ดีๆ ผลคือ ลูกจะรู้ทันทีว่าพ่อแม่ไม่ชอบเรื่องนี้ คราวหน้าเขาจะไม่คุยด้วยอีก และถ้าเจอปัญหา เขาจะไม่มาบอกพ่อแม่อย่างแน่นอน
เริ่มคุยเรื่องเพศกับลูกเมื่อไรดี
คำตอบ:
ยิ่งเร็วยิ่งดี
เด็กยุคนี้ เผชิญความเสี่ยงจากสื่อและสังคมรอบข้าง ที่กระตุ้นความสนใจใคร่รู้เรื่องเพศในช่วงวัยที่ลดลงเรื่อยๆ เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ปกครองจะติดตามปกป้องลูกหลานทุกฝีก้าว
ทางออกเดียวคือ สร้างภูมิคุ้มกัน โดยการสื่อสารความเข้าใจและสร้างมุมมองที่เหมาะสมให้กับพวกเขา
เด็กวัยไหน ต้องคุยอย่างไร
เด็กแต่ละวัย ต้องการข้อมูลความเข้าใจที่แตกต่างกัน
สิ่งที่เหมือนกันคือ..
อย่าหลบเลี่ยง เฉไฉ จะทำให้เด็กไปหาข้อมูลจากแหล่งอื่น และอาจเป็นข้อมูลที่ผิด
อย่าโกหก จะทำให้เด็กขาดความเชื่อถือไว้วางใจในตัวคุณ
อย่าเอาแต่ดุว่าสั่งสอน จะทำให้เด็กหยุดการสื่อสาร แอบต่อต้านอยู่ในใจ และอาจท้าทายทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับความต้องการของพ่อแม่
-
ก่อนเข้าเรียน (3-5 ปี)
เด็กวัยนี้สนใจเรื่องความแตกต่างของสรีระร่างกาย ผู้ชายกับผู้หญิง แต่เด็กยังแยกแยะบทบาทระหว่างเพศไม่ได้ เด็กจึงไม่ต้องการคำตอบซับซ้อน ไม่ต้องให้เหตุผลมากมาย ตอบข้อเท็จจริงสั้นๆ ง่ายๆ
-
ประถมต้น (6-9 ปี)
เด็กเริ่มมีสังคมของตัวเอง เรียนรู้จากเพื่อน เริ่มแยกแยะบทบาทสมมติได้ เช่น ผู้หญิงคือแม่/ภรรยา ผู้ชายคือพ่อ/สามี เริ่มต้องการความเป็นส่วนตัว เริ่มสนใจเรื่องเพศที่ซับซ้อนขึ้น ฟังคำอธิบายที่ซับซ้อนได้มากขึ้น แต่ควรพูดให้เด็กเห็นรูปธรรม ชัดเจน เห็นผลที่เกิดขึ้น
-
ก่อนวัยรุ่น (10-12 ปี)
เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เด็กอยู่ในช่วงปรับตัว ต้องการความเข้าใจ และอยากได้วิธีรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้น ลูกมักไม่คลุกคลีกับพ่อแม่ หรือช่างซักช่างถามเหมือนตอนเป็นเด็ก แต่เริ่มต้องการความเป็นส่วนตัว กลุ่มเพื่อนมีอิทธิพลมากขึ้น เด็กต้องการการยอมรับ พ่อแม่ต้องทำให้ลูกเข้าใจความแตกต่าง เสริมความเชื่อมั่นในการคิดและตัดสินใจ รวมทั้งให้ข้อมูลเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์และเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ไม่ต้องกลัวว่า ถ้าเด็กมีความรู้แล้วจะไปมีเพศสัมพันธ์ เด็กที่มีเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่ คือเด็กที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง