ชุมชนต้นแบบ
ภายใต้ แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา สคส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ มุ่งทำงานเพื่อลดผลกระทบจากพฤติกรรมเสี่ยงเรื่องเพศ และเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน
“แนวคิด” ในการทำงาน ได้แก่
- เรื่องเพศ ไม่ใช่แค่ “เพศสัมพันธ์” แต่ยังมีมิติด้านสุขภาพ ทัศนคติ รวมถึงทักษะการใช้ชีวิต ซึ่งทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัย
- เน้นการสื่อสาร “เชิงบวก” โดยการชี้ให้เห็นประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่การบังคับข่มขู่ ซึ่งอาจนำไปสู่การท้าทายหรือต่อต้าน
- ผู้ที่ประสบปัญหา ไม่ใช่ “ตัวปัญหา” แต่พวกเขากำลัง “เผชิญกับปัญหา”
- เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว หรือเรื่องในครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่สมาชิกในชุมชนและทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กเยาวชนและคนในชุมชน มีชีวิตที่เป็นสุขและปลอดภัย
“แนวทาง” การทำงาน ได้แก่ การสร้าง ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ให้เป็นผู้ที่มีบทบาทหลักในการปรับเปลี่ยนมุมมองเรื่องเพศในพื้นที่การทำงาน ซึ่งเน้นระดับ ตำบล โดยเชื่อมโยงการทำงานในลักษณะเครือข่ายกับองค์กรภาคีหลากหลาย มุ่งให้เกิดการรวมกลุ่มเป็น ทีมชุมชน เพื่อให้การขับเคลื่อนงานมีความต่อเนื่อง พร้อมไปกับการพัฒนามุมมองและทักษะการทำงานของผู้ที่เข้าร่วม โดยภารกิจเน้นการเชื่อมร้อยความคิด บูรณาการการทำงาน รวมทั้งสื่อสารรณรงค์ประเด็นสุขภาวะทางเพศในวงกว้าง
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การดำเนินแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สามารถสร้างให้เกิด “ชุมชนต้นแบบ” พื้นที่ปฏิบัติการสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ ที่มีการดำเนินงานในหลากหลายรูปแบบ แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละชุมชน และสามารถเป็นแบบอย่างสำหรับชุมชน หน่วยงาน และผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้ดูงาน เพื่อนำไปปรับใช้กับบริบทของตนได้ต่อไป
กลุ่มคนวัยใสเชียงใหม่
พูดคุยกลุ่มย่อยและจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้เรื่องเพศแก่เยาวชน รวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน เพื่อช่วยเหลือส่งต่อกรณีปัญหาสุขภาพทางเพศอย่างเป็นระบบ
กลุ่มแบ่งฝันปันใจ แม่ฮ่องสอน
คณะทำงานเสื้อม่วง กลุ่มคนจากหลากหลายภาคส่วนในระดับตำบล ทำงานให้ความรู้และบริการสุขภาพแก่เด็กและเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์
มูลนิธิรักษ์ไทย ลำพูน
คณะทำงานระดับตำบลที่ประกอบด้วยหลายภาคส่วน มีการประสานหน่วยงานระดับอำเภอและจังหวัด เพื่อช่วยเหลือกรณีผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ
สำนักข่าวเด็กและเยาวชน พะเยา
ปฏิบัติงานในระดับตำบลร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อป้องกันปัญหา และดูแลให้ความช่วยเหลือกรณีปัญหาเรื่องเพศสำหรับเด็กและเยาวชน
กลุ่มฮักหนองแข้
กลุ่มประชาสังคมที่ใช้ “พาแลงสัญจร” เป็นกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในตำบลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องเพศของเด็กและเยาวชนในชุมชน
เครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัดมหาสารคาม
กลุ่มคนทำงานภาคประชาสังคมที่ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข โดยเสริมสร้างความรู้และทักษะ เพื่อให้ อสม.เป็นนักสื่อสารสุขภาวะทางเพศในหมู่บ้าน
กลุ่มไม้ขีดไฟ นครราชสีมา
กลุ่มนักกิจกรรมที่ประยุกต์กิจกรรมละคร เพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศแก่เด็กและเยาวชน ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน
กลุ่มมานีมานะ สงขลา
กลุ่มนักกิจกรรมที่เน้นการทำงานเสริมความเข้าใจและทักษะการสื่อสาร รวมทั้งการจัดทำสื่อการสอนเรื่องสุขภาวะเพศให้กลุ่มครู เพื่อสร้างการเรียนรู้สำหรับเด็กประถม
ฝึกอบรม
ออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องสิทธิและสุขภาวะทางเพศ สำหรับบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ปฏิบัติงาน และเพิ่มคุณภาพการบริการ รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจประเด็นปัญหาเรื่องเพศในสังคมไทย โดยประกอบด้วยหลักสูตรของ สคส.ที่เปิดอบรมเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง และหลักสูตรฝึกอบรมที่ออกแบบเฉพาะตามความต้องการสำหรับแต่ละหน่วยงาน
หลักสูตรปรึกษาทางเลือก (Option Counseling)
การอบรมหลักสูตรปรึกษาทางเลือก เพื่อช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม สำหรับบุคลากรและบุคคลทั่วไป จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี อย่างต่อเนื่อง
หลักสูตรพลิกมุมมองเรื่องเพศ คุยกับลูกเชิงบวก
การอบรมเสริมมุมมองและทักษะการสื่อสารเรื่องเพศ สำหรับผู้ปกครอง เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องเพศในครอบครัวและสังคม ซึ่งจะเพิ่มความเชื่อมั่นในการดูแลบุตรหลานให้มีความปลอดภัยในเรื่องเพศ
จัดเวิร์กช็อปเสริมความรู้-มุมมองเรื่องท้องวัยรุ่น
ออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับบุคลากรของหน่วยงาน ที่ต้องทำงานเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ให้มีความเข้าใจ สามารถทำงานในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของผู้ประสบปัญหา
จัดกระบวนการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม
ออกแบบและจัดกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมและระดมสมองสำหรับบุคลากร เพื่อตอบโจทย์ของหน่วยงาน อาทิ การรวบรวมสภาพปัญหาในการปฏิบัติงานของทีมสหวิชาชีพ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กับกองยุทธศาสตร์และแผน กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
อบรมเสริมศักยภาพกลุ่มผู้หญิง
จัดกิจกรรมเพื่อเสริมมุมมองด้านสุขภาวะทางเพศ และเพิ่มความเชื่อมั่นในการสื่อสารและแสวงหาความรู้เรื่องสุขภาพทางเพศ เพื่อให้ผู้หญิงสามารถดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม
วิทยากร / กระบวนกร
เครือข่ายบุคลากรที่ผ่านกระบวนการฝึกอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจ และทักษะการสื่อสาร พร้อมที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องสิทธิและสุขภาวะทางเพศ สำหรับบุคลากรของหน่วยงาน สถาบันการศึกษา หรือผู้ที่สนใจ
บรรยายความรู้
การบรรยายความรู้เรื่องสิทธิและสุขภาวะทางเพศ รวมถึงประเด็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ให้กับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ทั้งบุคลากรหน่วยงาน นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจ
แบ่งปันประสบการณ์
ภาคีผู้นำการเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ปฏิบัติการสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ แบ่งปันประสบการณ์การทำงานบูรณาการความร่วมมือในชุมชน
กระบวนกรสร้างการเรียนรู้
กระบวนกรที่มีประสบการณ์การจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิและสุขภาวะทางเพศให้กับบุคลากรของหน่วยงาน และผู้ที่สนใจ
กระบวนกร “คุยกับลูกเรื่องเพศ”
กระบวนกรที่ผ่านการอบรมหลักสูตร “พลิกมุมมองเรื่องเพศ คุยกับลูกเชิงบวก” สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้ปกครอง เพื่อเสริมสร้างมุมมองความเข้าใจเรื่องสิทธิและสุขภาวะทางเพศในครอบครัว
เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม
ประสานความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ที่มีภารกิจช่วยเหลือผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ทั้งในระดับปฏิบัติการและนโยบาย เพื่อให้การช่วยเหลือและส่งต่ออย่างมีคุณภาพและครบวงจร
ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย
- ร่วมเป็น คณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบและแนวปฏิบัติ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น, คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ภายใต้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559
- จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบของการตั้งครรภ์วัยรุ่นต่อสังคมไทย และจัดเวทีเพื่อระดมประสบการณ์การทำงานและความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวบรวมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กับ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- ร่วมกับกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคม จัดเวทีระดมประสบการณ์ทำงานและความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องการทำงานแบบสหวิชาชีพ เพื่อช่วยเหลือวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์อย่างครบวงจร
- ร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งของระบบช่วยเหลือวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม เพื่อพัฒนาต้นแบบบ้านพักเด็กและครอบครัว และเครือข่ายส่งต่อบริการระดับจังหวัด ให้เกิดระบบบริการช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมที่มีความเข้มแข็ง (2555-2557)
สื่อความรู้
สร้างสรรค์สื่อที่มีเนื้อหาด้านสิทธิและสุขภาวะทางเพศหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน
ดาวน์โหลดสื่อ