บทความ / ข่าว
พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้ครบ 2 ปี รายการพิกัดเพศ โดย สคส.ทาง ThaiPBSradio คุยกับ นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำหน้าที่กองเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ถึงผลการดำเนินงาน และสิทธิเด็กและเยาวชนที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายฉบับนี้
สคส.: ท้องวัยรุ่น เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น ถือเป็นประเด็นร้อน ซึ่งตอนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักอนามัยการเจริญพันธ์
นพ.กิตติพงศ์: ครับ ในช่วง 10 ปีมานี้ เรื่องท้องวัยรุ่นและพฤติกรรมวัยรุ่นที่อาจจะดูเหมือนสุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ หลายคนว่า “ก่อนวัยอันควร” แต่หลายคนบอกว่า ปัจจุบันโลกาภิวัตน์แล้ว แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย หรือจะหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ได้
สคส.: จุดยืนของ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรถ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ต่อประเด็นนี้เป็นอย่างไร
นพ.กิตติพงศ์: กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรถ์ในวัยรุ่น มีการประชุมอย่างเข้มแข็ง ปีละ 3 ครั้ง มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมอบให้รองนายกรัฐมนตรี มีกรรมการจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งมีตัวแทนน้องๆ จากสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ทั้งชายและหญิง ร่วมเป็นกรรมการด้วย เลขานุการคืออธิบดีกรมอนามัย ที่สำคัญคือมีตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นทีมผู้ช่วยเลขานุการ ในที่การประชุมยังมีตัวแทนจากกระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทยด้วยครับ
สคส.: ผ่านมา 2 ปี การดำเนินงานมีความคืบหน้าอย่างไร
นพ.กิตติพงศ์: เราได้ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรถ์ในวัยรุ่น เป็นยุทธศาสตร์ 10 ปี มีเป้าหมายว่า ในปี 2569 จะลดการคลอดในวัยรุ่นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของสถานการณ์ปัจจุบัน ตอนที่ยกร่างกฎหมายฉบับนี้ อัตราการคลอดของวัยรุ่นในบ้านเราประมาณ 50 ต่อ 1,000 แนวโน้มน่าจะลดลงได้เรื่อยๆ ถ้าเราทำงานอย่างเข้มแข็ง และขณะนี้มีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาร่วมมือกัน และมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน
ยุทธศาสตร์ที่ 1 เรื่องการให้ความรู้ ทั้งในและนอกระบบการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการต้องจัดการเรียนการสอน พัฒนาครู ที่สำคัญ ต้องให้โอกาส ถ้าวัยรุ่นท้องแล้วยังอยู่ในสถานภาพเป็นนักเรียนนักศึกษา แล้วต้องการศึกษาต่อ จะต้องได้รับการจัดบริการด้านการศึกษาที่ต่อเนื่องจนสามารถจบหลักสูตรได้
ยุทธศาสตร์ที่ 2 เน้นการสร้างความรู้ที่เอื้อต่อการป้องกันและการแก้ไขปัญหา ในชุมชน ในสถาบันครอบครัว มีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเจ้าภาพหลัก รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องร่วมจัดกระบวนการ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 เน้นการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เรื่องการจัดบริการและการเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุม ก่อนจะมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง เรื่องการจัดบริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น เพื่อให้วัยรุ่นได้เข้าถึงองค์ความรู้สำหรับการป้องกันและการเข้าถึงบริการในกรณีที่เกิดปัญหา
ยุทธศาสตร์ที่ 4 เรื่องการจัดบริการด้านสวัสดิการสังคม ถ้าวัยรุ่นเกิดปัญหาขึ้นมา อยากเรียนหนังสือ ได้เรียนแน่ แต่คลอดแล้ว ถ้าต้องเลี้ยงลูกก็จะไม่มีเวลาไปเรียน รวมทั้งก่อนคลอด ถ้าครอบครัวทั้งสองฝ่ายปฎิเสธ หรือด้วยสถานะทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น การจัดสวัสดิการทางสังคมจะมีส่วนสำคัญว่า อาจต้องอาศัยบ้านพักฉุกเฉิน และได้เรียนไปด้วย หลังคลอดสามารถฝากลูกไว้ได้ มีหลายเคสนะครับ ที่เด็กฝากลูกไว้แล้วตัวเองไปเรียนหนังสือ หรือไปทำงาน พอฐานะมั่นคงก็กลับมารับลูกไปเลี้ยงต่อได้ หรืออาจยกเด็กให้กับครอบครัวบุญธรรม
สุดท้ายในยุทธศาสตร์ที่ 5 เน้นการพัฒนาฐานข้อมูล เราเคยได้ยินเรื่องของ Information is power บางทีเราทำงาน แต่ไม่มีทิศทาง ระบบข้อมูลจะเป็นส่วนสำคัญในการชี้เป้าหมาย ชี้ปัญหา ขณะเดียวกันก็ช่วยตอบเราด้วยว่า ปัจจุบัน จากการทำงาน ปัญหาลดลงหรือเพิ่มขึ้น เกิดกับใคร ที่ไหน อย่างไรครับ
สคส.: การประชุมคณะกรรมการระดับชาติ ครั้งล่าสุด วันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง
นพ.กิตติพงศ์: เป็นการประชุมครั้งที่ 2 ของปีนี้ครับ เข้มข้นมากขึ้น เพราะมีการมอบหมายให้คณะทำงานในแต่ละยุทธศาสตร์ โดยประธานคณะทำงานซึ่งมาจากผู้แทนจากแต่ละกระทรวงได้มานำเสนออย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการรายงานว่า มีปัญหาอุปสรรคอะไร เพื่อจะพัฒนาแก้ไข หรือกำหนดแผนปฏิบัติการสำหรับปีถัดไป เราเตรียมจะปรับปรุงแผนปฏิบัติการปี 2562-2564 หลังจากนั้น จะประเมินว่าเราไปถึงเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่
สคส.: งานการป้องกันปัญหา หลายคนฝากความหวังไว้กับหลักสูตรเพศศึกษา สถานการณ์เป็นอย่างไร
นพ.กิตติพงศ์: ต้องขอเน้นย้ำว่าการสอนเพศศึกษา หรือเพศวิถีศึกษา ไม่ใช่เป็นการชี้โพรงให้กระรอก เพราะเป็นการให้เด็กเรียนรู้ทั้งเรื่องสรีระ ความแตกต่างระหว่างเพศ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพศ จะมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร การมีทักษะในการเจรจาต่อรอง หรือการไม่นำพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วจะแก้ไขอย่างไร เรียกว่า “เพศศึกษารอบด้าน” ที่รวมถึงทักษะชีวิตด้วยนะครับ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการให้ความมั่นใจว่า ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อน รับรองว่าหลักสูตรมีแน่นอน แต่ทำอย่างไรจะสามารถถ่ายทอดให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้าถึงและเข้าใจ ตรงนี้ยังเป็นประเด็นอยู่ รวมทั้งเรื่องที่มีการนำเสนอในที่ประชุมคือ ทัศนคติของครูผู้สอน ต้องมีการพัฒนา
จากประสบการณ์ของผมเอง เกือบ 10 ปีที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ แนวโน้มดีขึ้น ถ้าย้อนไป 7-8 ปีที่แล้ว ตอนเรายกร่างกฎหมายอนามัยการเจริญพันธุ์ มีมาตรา 12 เขียนว่า เด็กนักเรียนท้องต้องได้เรียนต่อ ปรากฏว่าโดนโจมตีเละเลยนะครับ แต่ตอนยกร่างกฎหมายฉบับปัจจุบัน จนถึงกฎหมายบังคับใช้ ประเด็นนี้แทบจะไม่ได้ถูกโจมตีเลย แปลว่าสังคมได้เรียนรู้ว่าต้องให้โอกาส ตอนนี้เรื่องการปรับทัศนคติของครูผู้สอน ยังมีหลายแห่งแม้จะมีการฝึกอบรมไปแล้ว พอไปติดตาม พบว่ายังไม่มีการสอน เพราะผู้บริหารไม่ยอมให้สอน เราก็ปรับทัศนคติผู้บริหารสถานศึกษา พอไปติดตามใหม่ ผู้บริหารโอเคแล้ว แต่สมาคมผู้ปกครองนักเรียนไม่ยอม จะเห็นว่า กว่าความรู้จะถึงเด็กได้ มีหลายขั้นตอนมาก ทำอย่างไรจะปรับทัศนคติ ของทุกภาคส่วนในสังคมได้
สคส.: กระแสต่อต้านลดลง แต่การปฏิบัติงาน ยังไม่สามารถเดินหน้าได้
นพ.กิตติพงศ์: ใช่ครับ เรื่องทัศนคติสำคัญ บางทีไม่โจมตี แต่ไม่สนับสนุน การจะทำให้ยุทธศาสตร์ต่างๆ สัมฤทธิผลได้ ทัศนคติของทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง
สคส.: พ.ร.บ.ท้องวัยรุ่น มีหลายประเด็นที่สังคมยังไม่เข้าใจ
กิตติพงศ์: ตั้งแต่เริ่มต้นรายการ ตลอดรายการ และท้ายรายการ ต้องย้ำให้มองว่า วัยรุ่นเป็นเด็ก เป็นผ้าขาว สังคมเปลี่ยนแปลงไป เด็กรู้ไม่เท่าทัน จะทำอย่างไรให้เด็กมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งไม่ใช่การฉีดวัคซีนป้องกันโรค แต่เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้เด็กรู้เท่าทัน และอยู่รอดปลอดภัยในสังคมปัจจุบัน
สคส.: เรามักจะมองกันว่าเด็กยุคนี้รู้มาก รู้เยอะอยู่แล้ว เพราะใช้เน็ตใช้ไอทีคล่องแคล่ว
นพ.กิตติพงศ์: เราสอนให้เด็กมีความรู้ว่า ทำอย่างไรจะหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ และจะทำอย่างไรเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าจะมีเพศสัมพันธ์ต้องป้องกัน เด็กรู้หมด ตอบถูกหมด แต่สถานการณ์จริงคือ จะไปหาถุงยางที่ไหน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีบริการ แต่จะเดินไปขอ โอ้ย หมอพยาบาลจะเป็นเพื่อนพ่อเพื่อนแม่หรือเปล่า เดี๋ยวไปฟ้อง หรือถามผู้ฟังเลยนะครับ ถ้าเจอถุงยางอนามัยในกระเป๋าลูกชาย เราจะแฮปปี้ไหม เจอยาคุมหรือถุงยางอนามัยในกระเป๋าลูกสาวล่ะ ยังแฮปปี้หรือเปล่า ถ้ามองบวก จริงๆ ลูกอาจไม่ได้ตั้งใจจะใช้ แต่เกิดฉุกเฉินขึ้นมา ในสถานการณ์ที่จะถูกล่วงละเมิด ถ้าอย่างน้อยมีทักษะการเจรจาต่อรองให้มีการใช้ถุงยางอนามัย ก็ป้องกันไม่ให้ตั้งครรภ์ ไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวีได้ ฉะนั้น ถ้าเรามั่นใจว่าลูกเรามีพฤติกรรมที่ดี การมีอุปกรณ์ป้องกันไว้ก็น่าจะช่วยได้อีกทางหนึ่ง เพราะบางทีความรู้ดี พฤติกรรมดี แต่ไม่ได้จะทำให้ปลอดภัยจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ ถ้าเรามีลูกผู้ชาย การมีอุปกรณ์พวกนี้ก็ถือว่าลูกมีความรับผิดชอบ รู้จักการป้องกัน ผมว่าเรื่องนี้สำคัญ ให้ความรู้แล้ว แต่ถ้าไม่สร้างปัจจัยที่เอื้อให้เด็กเข้าถึงบริการได้จริง ก็ไม่แก้ปัญหา
สคส.: “บริการที่เป็นมิตร” เริ่มต้นตั้งแต่การป้องกัน
นพ.กิตติพงศ์: ใช่ครับ วัยรุ่นมาขอความรู้ต้องไม่มองว่า ทำไมมาถามทำไมเรื่องพวกนี้ ทำไมไม่ตั้งใจเรียน บางทีเขาอาจจะนำความรู้ไปใช้เอง หรือเป็นที่ปรึกษา เป็นแกนนำ เป็นหัวโจกของเพื่อน ถ้าเด็กสามารถติดตั้งความรู้ ติดอาวุธจากผู้เกี่ยวข้องได้ เขาไปบอกเพื่อนๆ ต่อได้ เหมือนเพื่อนช่วยเพื่อน เพราะเด็กเข้าถึงกันเองได้ง่ายกว่า สรุปก็คือ ทัศนคติสำคัญที่สุด ให้มองวัยรุ่นเป็นมิตร จัดบริการให้เป็นมิตร ทั้งเรื่องการเข้าถึงองค์ความรู้ และบริการเชิงป้องกัน คือถุงยางอนามัย เวชภัณฑ์คุมกำเนิดทุกวิธี รวมทั้งถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา ถ้าเราบอกว่าไม่อยากให้วัยรุ่นทำแท้ง แต่จะมาฝากครรภ์ก็ไม่ได้ คนรอบข้างมองว่า อ้าว เป็นเด็ก ทำไมมาฝากท้อง เป็นเด็กไม่ดี เขาก็คิดว่าไปทำแท้งดีกว่า ไม่ถูกตีตรา ฉะนั้น การจัดบริการทุกอย่างต้องให้เป็นมิตร อาจต้องมีการแยกสัดส่วน ให้เข้าถึงได้ง่ายและรักษาความลับด้วย ควรเป็นลักษณะ One stop service
สคส.: ทราบว่า การจัดบริการที่เป็นมิตร มีการเริ่มต้นมาก่อนจะมี พ.ร.บ.ท้องวัยรุ่น
นพ.กิตติพงศ์: เราทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2549 ตามโรงพยาบาล เมื่อก่อนมีส่วนงานวางแผนครอบครัว ตรวจเลือดก่อนแต่งงาน แต่งงานแล้วยังไม่อยากมีลูก หรือพอพร้อมจะมีลูกก็จะมีการให้คำปรึกษา ระหว่างท้องก็มีแผนกฝากครรภ์ แผนกคลอด แผนกหลังคลอด หลังคลอดให้วัคซีน บางทีตามไปฉีดวัคซีนให้ถึงบ้าน พอเด็กขึ้น ป.1 เราเกือบจะเรียกว่าละเลย ป.1 จนถึงอายุ 14-15 ปี ปัญหาสุขภาพคือต้องรอให้เป็นหวัด เจ็บคอ ท้องเสีย หรือประสบอุบัติเหตุถึงจะมาโรงพยาบาล แต่เด็กไม่มีช่องทางขอความรู้ เพราะเราไม่มีคลินิกพิเศษสำหรับเด็กเลย มีอีกทีก็ข้ามไปเรื่องวางแผนครอบครัว เป็นคลินิกผู้ใหญ่ทั้งหมด โรคไม่ติดต่อ ทั้งความดัน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อะไรก็ว่าไป
ฉะนั้น เราคงไม่รอให้เด็กไปมีอะไรกัน แล้วเกิดติดเชื้อภายในอวัยวะสืบพันธุ์ หรือไปตกเลือดมา แล้วถึงจะเดินมาหาเรา ทำอย่างไรจะมีคลินิกสำหรับกลุ่มวัยรุ่น องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า สถานพยาบาลต้องจัดบริการที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่น ด้วยกรอบแนวคิดนี้ เรามีการจัดอบรมให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง ตอนนี้มีไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ที่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐาน เพราะฉะนั้น อยากให้ความมั่นใจว่า โรงพยาบาลทุกแห่ง วัยรุ่นทุกคนสามารถเข้าถึงได้
สคส.: ไม่ต้องมีปัญหาก็เดินเข้าไปใช้บริการได้
นพ.กิตติพงศ์: ใช่ครับ ยกตัวอย่าง บริการคุมกำเนิด ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ให้การสนับสนุนด้วย คือ เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี การคุมกำเนิดวิธีดีที่สุด คือ การฝังยาคุมกำเนิด ซึ่งจะได้ผลนาน 3-5 ปี เราเรียกว่าเป็นวิธีการคุมกำเนิดกึ่งถาวร วัยรุ่นหญิงทุกคนสามารถใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เราเชื่อว่า อย่างน้อย จะทำให้ปัญหาการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่นลดลง เพราะกลุ่มนี้ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อคลอดอยู่แล้ว
สคส.: เด็กจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองก่อนใช้บริการหรือไม่
นพ.กิตติพงศ์: อายุ 15 ปีขึ้นไปใช้บริการได้โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองเซ็นยินยอม ข้อนี้จะอยู่ในกฎกระทรวงด้วย ซึ่งขณะนี้กฎกระทรวงผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฎษฎีกาแล้ว อยู่ระหว่างรอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ก่อนจะประกาศใช้เพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับสถานบริการสุขภาพทุกแห่งต่อไป
สคส.: พ.ร.บ.ท้องวัยรุ่น มีการระบุถึง “สิทธิการตัดสินใจ” ของวัยรุ่น หมายถึงอะไร
นพ.กิตติพงศ์: ตัดสินใจในเรื่องการขอความรู้ ขออุปกรณ์คุมกำเนิด รวมถึงบริการยุติตั้งครรภ์ อายุ 15 ปีขึ้นไปสามารถตัดสินใจมาใช้บริการที่สถานพยาบาล โดยไม่ต้องขออนุญาตพ่อแม่ผู้ปกครอง เรื่องบริการยุติการตั้งครรภ์ เรียนท่านผู้ฟังนะครับว่า ไม่ใช่ว่าใครอยากยุติก็มาเลย แต่จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย
ทุกประเทศไม่มีคำว่า “แท้งเสรี” นะครับ อยากปรับความเข้าใจตรงนี้ ทุกประเทศมีเงื่อนไขของตัวเองทั้งนั้นในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ ของประเทศไทย กฎหมายอาญากำหนดว่าสามารถทำได้ถ้าเกิดจากการข่มขืน ถ้าอายุต่ำกว่า 15 ปี สามารถทำแท้งได้ทุกกรณีเพราะถือว่าถูกข่มขืน เด็กที่ท้อง ยิ่งอายุยิ่งน้อย เราอย่าด่วนตีตราเขา จริงๆ เขาถูกข่มขืน แม่วัยรุ่น 80 เปอร์เซนต์ที่พบ เป็นการล่วงละเมิดทางเพศ เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับความยินยอมของเด็กนะครับ ที่สำคัญ ล่วงละเมิดโดยใคร ทำไมไม่แจ้งความ คุณจะกล้าแจ้งความไหม เพราะส่วนใหญ่เป็นบุคคลในครอบครัว เป็นคนใกล้ชิด ส่วนใหญ่ก็แก้ปัญหาให้จบๆ ไป มีไม่มากที่เป็นคดีความ
เงื่อนไขที่ 2 คือการตั้งครรภ์ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาต่อสุขภาพของแม่ สุขภาพในที่นี้ ทางแพทยสภาได้ออกข้อบังคับ คือนอกจากสุขภาพกายแล้ว ยังมีสุขภาพจิตด้วย สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้
สคส.: ทุกวันนี้ การเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ยังไม่ง่าย แม้จะเกิดจากกรณีข่มขืนก็ตาม
นพ.กิตติพงศ์: ปัญหาอยู่ที่ทัศนคติ บางคนมีเหตุที่จะยุติการตั้งครรภ์ แต่ผู้จัดบริการไม่ยอมจัดบริการให้ ถ้าเราพูดแบบนี้ ดูเหมือนไม่มีทางออก ที่จริง เหมือนเรื่องการให้โอกาสเรียนหนังสือ คือสังคมเริ่มเข้าใจมากขึ้น ผมมองว่า ปัญหาบางเรื่องแก้ได้ด้วยเวลาที่ผ่านไป สังคมเกิดการเรียนรู้ เจอปัญหาซ้ำๆ พูดซ้ำๆ ให้เกิดมุมมองที่เหมาะสม สังคมจะเริ่มเข้าใจว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมามีรากเหง้าจากการที่คนไม่สามารถเข้าถึงการคุมกำเนิด ทำให้เกิดการท้องโดยไม่ตั้งใจ แล้วถ้าเข้าเงื่อนไขที่สามารถยุติการตั้งครรภ์ยังไม่ให้เขาเข้าถึงได้อีก ปัญหาอื่นก็ตามมา เช่น การทอดทิ้งเด็กตามที่สาธารณะ ทิ้งตามถังขยะ หรือการทำร้ายเด็ก เกิดอาชญากรเด็ก เหล่านี้ปัจจัยหนึ่งเป็นผลจากการท้องไม่พร้อม และเข้าไม่ถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยตามเงื่อนไขของกฎหมาย คนเริ่มเข้าใจมากขึ้น ฉะนั้น ผมมั่นใจครับว่า แนวโน้มจะต้องดีขึ้น ชีวิตต้องมีทางออก และเป็นสิทธิด้วยที่เขาจะตัดสินใจด้วยตัวเอง เรื่องนี้คงจะพูดกันอีกยาว แต่มั่นใจว่า การพูดบ่อยๆ พูดซ้ำๆ ถือเป็นการโน้มน้าวให้สังคมได้ตระหนัก และเปิดใจมากขึ้น
สคส.: ไม่เห็นด้วยไม่เป็นไร แต่อย่างน้อย ถ้าวันหนึ่งเกิดปัญหาขึ้นมา รู้ว่าจะไปไหนต่อ
นพ.กิตติพงศ์: ใช่ครับ ปัจจุบัน เรามีเครือข่ายการส่งต่อที่จะให้เข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ที่สอดคล้องกับกฎหมาย คือสายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 ไม่ต้องถามนะครับว่า ที่ไหนรับทำแท้ง ที่ไหนไม่ทำ เพราะบางทีแพทย์ที่พร้อมจะอุทิศตนช่วยเหลือด้านนี้อย่างถูกกฎหมายก็ไม่พร้อมจะประกาศตัวขึ้นป้ายหน้าโรงพยาบาล ผู้ฟังแค่จำว่า 1663 สามารถโทรเข้าไปได้ โดยไม่ต้องท้องก่อน แต่สามารถปรึกษาปัญหาเรื่องเพศได้ทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการป้องกันและขอคำแนะนำเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่ท้องโทรมาแล้วจะได้ทำแท้งทันทีนะครับ เพราะบางคน ที่อยากทำแท้ง เพราะติดเรื่องเรียนหนังสือต่อ สายด่วนจะมีข้อมูลให้ว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว มีบริการอะไรอยู่บ้าง ซึ่งเป็นทางเลือกอื่น หรือถ้าทางเลือกยังเป็นการยืนยันว่าจำเป็นต้องทำแท้งก็จะเป็นการทำแท้งที่ปลอดภัย ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย
สคส.: ท้องแล้วโรงเรียนไม่ยอมให้เรียนต่อ โทรปรึกษาได้ไหม
นพ.กิตติพงศ์: ที่จริงตอนนี้ สถานศึกษาทุกแห่งต้องให้โอกาสในการศึกษาต่อ แต่ถ้าสถาบันการศึกษาบางแห่งอาจจะยังไม่พร้อมจริงๆ โทรเข้ามาก่อนได้ เป็นศูนย์กลางที่จะให้คำแนะนำปรึกษาได้ สายด่วน 1663 ไม่ได้ดูแลเฉพาะบริการทางด้านสุขภาพ แต่ครอบคลุมบริการด้านสังคม มี 2 ประเด็นหลัก คือด้านการศึกษา และความช่วยเหลือทางสังคม เช่น ถ้าต้องรอคลอด มีบ้านพักฉุกเฉินที่ไหนบ้าง คลอดแล้วมีทางเลือกอย่างไรบ้าง
สคส.: ทำให้เห็นภาพว่า ที่ผ่านมา มีการทำงานในลักษณะนี้อยู่แล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุม
นพ.กิตติพงศ์: ใช่ครับ ไม่อยากบอกว่าเหมือนทำงานใต้ดิน ที่จริงก็อยู่บนดิน แต่สังคมอาจมองว่าไม่ถูกต้อง ทั้งที่จริงถูกต้อง แต่ตอนนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้น ว่าเราทำในสิ่งถูกต้องตามบริบททางสังคมไทยและบริบททางกฎหมายด้วย คิดว่า ผู้ฟังที่ฟังมาถึงตรงนี้ น่าจะเข้าใจ เกิดความตระหนัก และเปิดใจช่วยกันทำให้กฎหมายท้องวัยรุ่นมีการขับเคลื่อนได้อย่างแท้จริง โดยการขยายบริการให้ครอบคลุมและมีคุณภาพเพิ่มขึ้น เชื่อว่า ถ้ากฎหมายมีผลบังคับใช้ไปหลายๆ ปี ทุกฝ่ายจะเข้าใจมากขึ้น ผู้จัดบริการในส่วนของภาครัฐจะปรับทัศนคติเชิงบวก ผู้ที่จะมาใช้บริการก็ได้รับรู้และเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ทั้งเชิงป้องกันและแก้ไข
สคส.: ระบบบริการยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาเพื่อให้มีคุณภาพและครอบคลุม
นพ.กิตติพงศ์: การมีกฎหมายเฉพาะประเด็นขึ้นมาถือเป็นนิมิตหมายที่ดี และเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธินะครับ ที่จริงแล้ว กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดสิทธิที่ประชาชนไทยจะต้องเข้าถึงการศึกษา และบริการด้านสุขภาพและสังคม โดยไม่มีเงื่อนไข ฉะนั้น บริการทั้งหมดที่พูดมา ต้องได้คุณภาพมาตรฐาน
สคส.: พ.ร.บ.ท้องวัยรุ่น เหมือนเป็นการขยายความสิทธิตามรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนมากขึ้น
นพ.กิตติพงศ์: ขยายความ และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ
สคส.: แก้ปัญหาการคิดว่า ทุกคนต้องได้เรียน แต่ท้องเลยไม่ต้องเรียนก็ได้
นพ.กิตติพงศ์: ใช่ ถูกต้อง ถือเป็นกฎหมายที่ตอบโจทย์ทั้งรัฐธรรมนูญประเทศไทย ตอบโจทย์เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิทางเพศ สิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของชีวิต
สคส.: น่าจะช่วยให้ภาพรวมของสังคมดีขึ้น
นพ.กิตติพงศ์: ใช่ครับ ประเทศอื่น ที่มีการขับเคลื่อนกฎหมายเรื่องสิทธิต่างๆ พบว่า อาชญากรรมเด็กลดลง อาชญากรรมทางสังคมลดลง เพราะสามารถทำให้คนเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ ในครอบครัวที่มีความพร้อม ทำให้ได้รับการดูแลที่ดี ได้รับการพัฒนาศักยภาพในทุกด้าน เป็นคนที่มีคุณภาพในสังคม เราก็หวังว่า กฎหมายฉบับนี้เมื่อบังคับใช้ควบคู่กับกฎหมายอื่นๆ สังคมไทยน่าจะเป็นสังคมที่น่าอยู่มากขึ้น
แม่วัยรุ่นวันนี้ มักจะมีแม่ที่เป็นแม่วัยรุ่นมาก่อน ซึ่งคงไม่ใช่การถ่ายทอดทางพันธุกรรมอย่างแน่นอน แต่เป็นเรื่องของโอกาส ที่ผ่านมา เขาขาดโอกาส เพราะว่าท้องแล้วไม่ได้เรียน ท้องแล้วถูกไล่ออกจากงาน จะเอาเงินที่ไหนมาเลี้ยงลูก ฉะนั้น เลี้ยงแบบบุฟเฟต์ เด็กก็เข้าสู่วงจรเดิมเหมือนที่พ่อแม่เป็น จะตัดวงจรนี้ได้คือการให้โอกาส สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันปัญหา
สคส.: น่าจะเหมาะกับการเตรียมพร้อมสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทย
นพ.กิตติพงษ์: ใช่ แม่วัยรุ่นวันนี้ มักจะมีแม่ที่เป็นแม่วัยรุ่นมาก่อน ซึ่งคงไม่ใช่การถ่ายทอดทางพันธุกรรมอย่างแน่นอน แต่เป็นเรื่องของโอกาส ที่ผ่านมา เขาขาดโอกาส เพราะว่าท้องแล้วไม่ได้เรียน ท้องแล้วถูกไล่ออกจากงาน จะเอาเงินที่ไหนมาเลี้ยงลูก ฉะนั้น เลี้ยงแบบบุฟเฟต์ เด็กก็เข้าสู่วงจรเดิมเหมือนที่พ่อแม่เป็น จะตัดวงจรนี้ได้คือการให้โอกาส สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันปัญหา
ตอนนี้เราเป็นผู้ใหญ่ แล้วก็จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต เราหวังว่า ประเทศไทยจะมีสวัสดิการมากมายสำหรับผู้สูงอายุ เหมือนประเทศที่มีสวัสดิการภาครัฐสำหรับผู้สูงอายุที่ดี มีระบบคมนาคม มีสาธารณูปโภคที่สอดคล้องเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ มีเงินโบนัส หรือว่าเงินตอบแทนให้กับผู้สูงอายุ ถ้าเราอยากได้ตรงนั้น เราต้องสร้างเด็กของเราให้พร้อม ให้เด็กเกิดด้วยความพร้อม มีความอบอุ่นในครอบครัว เพื่อที่จะมาให้เป็นวัยแรงงานที่มีคุณภาพ สร้างผลิตภาพ ทำให้เศรษฐกิจประเทศดี แล้วสวัสดิการก็จะดีสำหรับผู้สูงอายุด้วย ตรงกันข้าม ฉะนั้น เรื่องนี้ ผมพูดเสมอว่า ไม่ใช่เป็นการทำเพื่อเด็ก แต่เป็นการทำเพื่อตัวเราเองด้วย
สคส.: ถ้าท้องแล้วไม่ลำบาก จะกลายเป็นการส่งเสริมการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยหรือเปล่า
นพ.กิตติพงศ์: ขอให้มั่นใจว่า กฎหมายฉบับนี้ เราเน้นการป้องกันด้วย แต่ถ้าเกิดปัญหาต้องหาวิธีการเยียวยา เพื่อไม่ให้เป็นภาระสังคมต่อไป ยืนยันนะครับว่า ไม่มีใครอยากท้องเพื่อจะมารับสิทธิตามนี้ ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ สามารถลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลงได้ครึ่งหนึ่งภายใน 10 ปี สอดคล้องกับข้อเสนอแนะจากองค์การอนามัยโลกว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจะลดลงได้ หนึ่ง ต้องให้ความรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษา ขณะเดียวกัน ยังต้องมีความรู้สำหรับครอบครัว ชุมชน พ่อแม่ต้องสามารถพูดคุยในเรื่องเพศกับวัยรุ่นได้ เราก็จะเห็นนะครับว่า ถ้าพ่อแม่ไม่ให้โอกาส เด็กจะไปคุยกับเพื่อน ไปคุยกับช่องทางโซเชียลมีเดีย เราไม่รู้ว่าตรงนั้นข้อมูลถูกต้องหรือไม่ ฉะนั้น เรื่องพ่อแม่เป็นเรื่องสำคัญ
สคส.: พ่อแม่มองว่า สมัยก่อนก็ไม่เห็นจะต้องคุยเรื่องพวกนี้
นพ.กิตติพงศ์: ความสุ่มเสี่ยงมากขึ้นในปัจจุบัน ชีวิตไม่เหมือนเดิม สังคมมันเปลี่ยน เราไม่สามารถตามคุมเด็กได้ตลอดเวลา แต่ทำอย่างไรจะติดอาวุธให้เขา เพื่อจะใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างอยู่รอดปลอดภัย